Monday, February 11, 2008

ระเบิดปลาวาฬให้แหลกเป็นจุล

โดย น.สพ. กานต์ เลขะกุล


ระเบิดปลาวาฬ “จะบ้าหรือ” ผมคิดในใจ “หรือว่าจะเป็นวิธีการล่าวาฬแบบใหม่ แต่ก็ไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะจะเหลืออะไรให้แล่ขายเล่า เออมีวีดิโอด้วยแหะ สงสัยจะเรื่องจริง แต่วาฬนั้นตายแล้วนิ คงจะแค่ผ่าซากวาฬเน่าแล้วท้องที่หมักอืดได้ที่ก็ระเบิดใส่หมอให้ขำๆ เล่น”


จะเป็นเช่นไรกันแน่ ขอเชิญชมวีดิโอต่อไปนี้



เรื่องนี้เป็นเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน ปีคศ. 1970 ที่เมืองฟลอเรนซ์ รัฐออเรกอน ประเทศสหรัฐอเมริกา โดยมีวาฬหัวทุย (Sperm Whale, Physeter macrocephalus) ตายแล้วมาเกยตื้นชายฝั่ง วาฬนั้นยาว 45 ฟุต น้ำหนัก 8,000 กิโลกรัม


การทางหลวง รัฐออเรกอน ซึ่งมีอำนาจหน้าที่ดูแลชายหาดจึงเข้ามาจัดการ โดยได้พิจารณาวิธีการแล้วให้เหตุผลไว้ว่า จะไม่ฝังเพราะเดี๋ยวศพอืดลอยโผล่ขึ้นมาอีก จะแล่เป็นชิ้นแล้วค่อยฝัง ก็ไม่มีใครยอมทำงานอันสุดเหม็นนี้ จะเผาก็ไม่ได้ สุดท้ายจึงใช้วิธีการที่ตัวเองถนัดที่สุด อันเป็นวิธีเดียวกันกับการเคลียร์ทางที่ถูกหินถล่มใส่ นั่นคือ ใช้ระเบิด โดยเลือกใช้ไดนาไมท์ 20 ลัง น้ำหนัก 500 กิโลกรัม ด้วยความคาดหวังว่าแรงระเบิดจะทำให้วาฬนั้นแหลกเป็นจุล เหลือเพียงชิ้นเล็กชิ้นน้อยให้นกนางนวล ปู และสัตว์กินซากแทะกิน


จากการสัมภาษณ์คุณจอร์จ ทอร์ตัน เจ้าหน้าที่การทางหลวงให้ความมั่นใจว่า “ผมแน่ใจว่าทำสำเร็จแน่ แต่ที่ไม่แน่ใจก็คือ ไม่รู้ว่าจะต้องใช้ระเบิดเยอะแค่ใหนเพื่อทำลายวาฬให้แหลก” เจ้าหน้าที่เริ่มปฏิบัติการโดยเหน็บระเบิดส่วนใหญ่ไว้ใต้ตัววาฬด้านชายฝั่ง โดยคาดการณ์ว่าแรงระเบิดจะพัดนำชิ้นส่วนวาฬส่วนใหญ่ลงทะเล


บริเวณโดยรอบนั้นก็มีชาวบ้านประมาณ 75 คนมามุงดู ทางเจ้าหน้าที่จึงสั่งให้ย้ายถอยห่างออกไป 400 เมตรเพื่อความปลอดภัย และแล้วก็ถึงวินาทีสำคัญ ระเบิดปะทุขึ้นสนั่นหวั่นไหว ส่งทรายและซากวาฬลอยขึ้นฟ้าไปทุกทิศทาง ดูไกลๆ แล้วสวยงามดุจดั่งพลุดอกไม้ไฟ


แต่แล้วความตื่นเต้นและขบขันที่ได้เห็นวาฬระเบิดเป็นเสี่ยงๆ ลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าก็อันตรธานหายในบัดดล กลายเป็นความโกลาหลวิ่งหนีเอาชีวิตรอดในทันที เพราะเนื้อวาฬเป็นท่อนๆ และไขมันวาฬนั้นตกลงมาจากฟากฟ้าดั่งห่าฝนไปทุกแห่งหน ภายหลังเหตุการณ์สงบแล้วเมื่อตรวจสอบความเสียหาย ก็พบว่ารถซึ่งอยู่ห่างออกไปประมาณครึ่งกิโลเมตรนั้นถูกเนื้อวาฬชิ้นใหญ่หล่นใส่หลังคายุบทั้งคัน ร่างกายของทุกคนในรัศมีครึ่งกิโลนั้นก็ปกคลุมไปด้วยไขวาฬและสะเก็ดเลือด แต่โชคดีไม่มีใครได้รับบาดเจ็บ ส่วนนกนางนวลที่วาดฝันไว้ว่าจะมากินวาฬนั้นก็ตกใจแรงระเบิด บินหนีหายไปหมดแล้ว


ตกเย็น การทางหลวงจึงนำรถตักดินมาฝังซากที่เหลือ ซึ่งมองจากวีดิโอแล้ว ยังเหลือวาฬอีกครึ่งค่อนตัว ไม่สะทกสะเทือนกับแรงระเบิดเอาซะเลย


ดูจนจบแล้วก็ยังไม่อยากเชื่อสายตาตัวเองอยู่ดี คิดอยู่ในใจว่าเรื่องบ้าๆ อุตริเช่นนี้คงจะเกิดขึ้นแค่ครั้งเดียวในโลก และไม่มีใครโง่ทำเช่นนี้อีกเลย จึงได้อีเมล์ถามความคิดเห็นจาก ดร.สพ.ญ.นันทริกา ชันซื่อ หน่วยอายุรศาสตร์สัตว์น้ำ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ซึ่งคำตอบที่ได้รับนั้นผิดคาด


“This is a common practice in case of stranded whale rotten on the beach all over the world. My experience was a few years ago I was told and showed the one in South Africa (Cape town).. They were talking about how much explosive to use...which has always been a real problem ...And ended up that all the little houses around there were smashed with smelly rotten whale flesh all over the place. They said it is like putting explosive in to a giant banana...only the inside came out but the skin still there...”


ถอดความได้ว่า การใช้ระเบิดนั้นเป็นวิธีที่ใช้บ่อยในการกำจัดวาฬเน่าเกยตื้น แต่มักมีปัญหาการคำนวณปริมาณวัตถุระเบิดที่ต้องใช้ โดยอาจารย์ได้ดูวีดิโอของเหตุการณ์ที่แอฟริกาใต้ ซึ่งบ้านโดยรอบนั้นพังทลายจากซากวาฬหล่นทับ ว่ากันว่าเสมือนกับใส่ระเบิดในกล้วยยักษ์ เนื้อกล้วยจะกระเด็นออกมา แต่ผิวกล้วยยังคงอยู่


เพื่อให้กระจ่างถึงที่สุด ผมจึงได้สอบถามผู้รู้อีกท่านหนึ่ง คือ น.สพ. สนธยา มานะพัฒนา สัตวแพทย์ประจำสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเล ชายฝั่งทะเล และป่าชายเลน ท่านตอบว่า “เวลามีซากวาฬใหญ่ๆเกยตื้น บ้านเราจะใช้วิธีฝังกลบ เอารถแมคโครมาขุดเลย อาจฝากไว้ในสวนยางของชาวบ้าน ถ้าไม่มีที่จริงๆก็ขุดฝังบนหาดนั่นแหละ เราฝังเพื่อจะกลับมาเอากระดูกในอีก 3-4 ปีให้หลัง (บางครั้ง 5 ปีเนื้อยังเน่าไม่หมดเลย) ไม่รู้ทำไมต่างประเทศเค้าไม่ชอบฝังกันนะครับ”


สรุปว่า การระเบิดซากวาฬนั้นก็เป็นวิธีมาตรฐานอย่างหนึ่งที่ทำกันทั่วไปถึงทุกวันนี้ หากท่านยังไม่เชื่อ มีวีดิโอให้ดูอีกมากมายที่ www.theexplodingwhale.com


เอาละ หลังจากขำกลิ้ง หัวเราะท้องแข็งในปัญหาของคนอื่นแล้ว ลองมาสมมุติดูว่าถ้าเป็นปัญหาของเรา สัตวแพทย์ที่ตามไปถึงช้าจนวาฬถูกระเบิดออกเป็นเสี่ยงๆ แล้วจะทำเช่นไร


  1. วาฬสามารถเป็นพาหะนำโรคแก่สัตว์และคน ได้แก่อะไรบ้าง
  2. หากวาฬตัวนี้เป็นวัณโรค (Tuberculosis) โรคแท้งติดต่อ (Brucellosis) และฉี่หนู (Leptospirosis) ท่านจะมีวิธีดำเนินการเช่นไรกับ
    • ประชาชนที่มามุงดู
    • สัตว์ที่อยู่ในบริเวณนั้น เช่น แมวน้ำ ช้างน้ำ นกนางนวล นกกระจอก หมา แมวจรจัด หนู ฯลฯ
  3. จากโรคติดต่อที่ท่านศึกษามา เมื่อวาฬถูกระเบิดกระจายเป็นเสี่ยงๆ ไกลเป็นรัศมีถึง 2 กิโลเมตรเช่นนี้ ท่านจะดำเนินการเช่นไรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อให้ปลอดโรค
  4. การที่แหล่งโรคถูกระเบิดเป็นจุลเช่นนี้ ท่านคิดว่ามีโอกาสนำโรคอะไรมากับสายลมได้บ้าง รัศมีไกลเท่าใด จะควบคุมอย่างไร
  5. หากท่านเป็นหัวหน้าทีม จากรายชื่อโรคในข้อ 1 ที่มีโอกาสเป็นไปได้
    • ท่านจะบริหารงานอย่างไร
    • ขอความร่วมมือกับหน่วยงานใดบ้าง
    • ตรวจโรคที่ใด ใช้เวลาเท่าใด งบประมาณเท่าใด ฯลฯ


Read more!

Sunday, February 10, 2008

Koi Herpes Virus

โดย สพ.ญ. ฐนิดา เหตระกูล


โรคเคเอชวี หรือ Koi Herpes Virus (KHV) เป็นโรคติดต่อจากเชื้อไวรัส ที่มีความรุนแรงในปลาตระกูลคาร์พ โดยเฉพาะปลาแฟนซีคาร์พ (Cyprinus carpio koi) และ ปลาไน(Cyprinus carpio L.) พบอุบัติการณ์ของโรคเกิดขึ้นครั้งแรกในปี 1998 ที่ประเทศอิสราเอล จากนั้นเกิดการแพร่ระบาดไปยังประเทศต่างๆในทวีปยุโรป  ประเทศอินโดนิเซีย ไต้หวัน ญี่ปุ่น รวมทั้งในประเทศไทย และเนื่องจากการเคลื่อนย้ายปลาเข้า-ออกประเทศโดยส่วนใหญ่ มิได้มีมาตรการในการตรวจโรคที่เข้มงวด ทำให้การระบาดเป็นไปอย่างรวดเร็วและมีความรุนแรง ก่อให้เกิดความสูญเสียอย่างมหาศาลทั้งต่อการเพาะเลี้ยงปลาไน ซึ่งเป็นปลาที่ใช้ในการบริโภค และการเพาะเลี้ยงปลาแฟนซีคาร์พซึ่งเป็นปลาสวยงามที่มีผู้นิยมเลี้ยงแพร่หลายไปทั่วโลกและมีมูลค่าในการซื้อขายที่ค่อนข้างสูง 

 
ระบาดวิทยา

โรคเคเอชวีในประเทศไทยเริ่มมีการตรวจพบครั้งแรกในปี พ.ศ.2546 จากการนำเข้าปลาแฟนซีคาร์พจากประเทศญี่ปุ่น ซึ่งพบว่ามีอัตราการตายของปลาคาร์พทั้งในฟาร์มและในบ่อเลี้ยงที่สูงมาก โดยเฉพาะในช่วงหน้าหนาว ส่งผลให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก จากการแพร่กระจายของโรคอย่างรวดเร็วและสามารถติดต่อกันได้ง่าย โดยปลาจะได้รับเชื้อติดต่อกันทางการสัมผัส การผ่านทางน้ำหรือตะกอนในบ่อเลี้ยงที่มีการปนเปื้อนของเชื้อไวรัส จากอุปกรณ์การเลี้ยงต่างๆที่ใช้ร่วมกัน และจากตัวผู้เลี้ยงเอง จากรายงานการทดลองในประเทศอิสราเอลพบว่าเชื้อสามารถมีชีวิตอยู่ในน้ำได้นานอย่างน้อย 4 ชั่วโมง โดยปลาที่ติดเชื้อมีอัตราการตายสูงถึง 80-100% ในระยะเวลาภายใน 1-2 สัปดาห์  และพบว่าอุณหภูมิเป็นปัจจัยของสิ่งแวดล้อมที่สำคัญ (temperature dependent) ในการเอื้ออำนวยต่อการติดเชื้อ ความรุนแรง และการระบาดของโรค โดยจะพบการระบาดของโรคที่รุนแรงในช่วงอุณหภูมิ 18-26 องศาเซลเซียส แต่เมื่อทำการเปลี่ยนอุณหภูมิน้ำให้อยู่ในช่วงที่ต่ำหรือสูงกว่าอุณหภูมิที่เกิดโรครุนแรง ปลาจะมีการแสดงอาการลดลงหรือไม่แสดงอาการป่วย  


อาการป่วย 

ได้แก่ ซึม เบื่ออาหาร มีการว่ายน้ำที่ผิดปกติ กล้ามเนื้ออ่อนแรง ฮุบอากาศ และอาจแสดงรอยโรคที่บริเวณผิวหนังและเกล็ด มีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน และส่วนใหญ่มักจะเสียชีวิตหลังจากมีการติดเชื้อ 7-10 วัน โดยจะพบรอยโรครุนแรงที่เหงือก มีการบวมพบการเกิดเนื้อตายและการถูกทำลายของเซลล์ซี่เหงือก เนื่องจากเชื้อไวรัสจะเข้าทำลายเซลล์ที่เหงือกโดยตรง เกิดการขยายใหญ่และการอักเสบของไต(nephritis) ม้าม(splenitis) และตับ(hepatitis) เมื่อทำการตรวจทางจุลพยาธิวิทยา จะพบอินคลูชั่นบอดี้ ในนิวเคลียสของเซลล์เหงือกและอวัยวะภายในอื่นๆ


      


ลักษณะของเชื้อที่พบเมื่อทำการดูภายใต้กล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอนพบว่า virion มี inner capsid และมีรูปร่าง icosadeltahedron แบบสมมาตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางประมาณ 100-110 นาโนเมตร ในจีโนมของเคเอชวีประกอบด้วยส่วนของ thymidine kinase gene ขนาดประมาณ16 - 45 bp

 

การตรวจวินิจฉัย

ในปัจจุบันมีวิธีการตรวจเชื้อเคเอชวี ที่เป็นที่ยอมรับในระดับสากลมีอยู่หลายวิธี ได้แก่ การเพาะแยกเชื้อไวรัส (viral isolation) เพื่อนำเชื้อไวรัสมาจำแนกชนิดด้วยกล้องจุลทรรศน์อิเล็กตรอน การใช้เทคนิค DNA hybridization, Polymerase Chain Reaction(PCR), Loop-mediated isothermal amplification (LAMP) และการ Cloning Thymidine kinase gene (TK gene) ในไวรัสเคเอชวีมาทำปฏิกิริยาโพลิเมอเรส ในการตรวจหาสารพันธุกรรม(DNA) ของไวรัสเคเอชวี


ผลเชิงปฏิบัติในประเทศไทย

สถานการณ์ของโรคเคเอชวีในประเทศไทยนั้น ในปัจจุบันก็ยังมีการตรวจพบปลาที่มีเชื้อไวรัสอยู่เกือบทั่วทุกภาคของประเทศ โดยในช่วงหน้าหนาวจะมีอัตราการตายของปลาที่ค่อนข้างสูง ปลามีอาการแสดงที่รุนแรง ไม่ค่อยตอบสนองต่อการรักษาและจะตายภายในเวลาอันรวดเร็ว มักพบว่าปลาที่ไม่เคยได้รับเชื้อจะมีการแสดงอาการของโรคก่อนและมักจะตาย เนื่องจากเคเอชวีเป็นเชื้อไวรัสจึงไม่มีวิธีการรักษาโรคนี้ได้โดยตรง มีเพียงการรักษาภาวะแทรกซ้อนต่าง ๆที่อาจจะเกิดขึ้น เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และเชื้อปรสิต ดังนั้นการดูแลสภาพแวดล้อมให้ปลามีสุขภาพที่ดี ไม่เครียด รวมทั้งการเสริมวิตามินบำรุงร่างกายให้ปลา จะช่วยให้ปลาแข็งแรงและลดอัตราการตายลงได้ นอกจากนี้ในช่วงที่อากาศเย็นก็ควรที่จะมีความระมัดระวังเป็นพิเศษ เพราะเชื้อจะเจริญได้ดีในช่วงนี้และจะส่งผลให้ปลาแสดงอาการที่รุนแรงและตายได้ ทั้งนี้ปลาที่หายจากช่วงวิกฤตของโรคไปได้ ก็มักจะเป็นตัวพาหะที่จะสามารถแพร่กระจายเชื้อให้กับปลาที่ไม่เคยเป็นโรคได้โดยที่ตัวเองไม่แสดงอาการและอาจตรวจไม่พบเชื้อไวรัสด้วยวิธี PCR ดังนั้นจึงควรมีความระมัดระวัง ในการที่จะซื้อปลาหรือนำเข้าปลาใหม่ โดยควรที่จะแยกเลี้ยงไว้ก่อนที่จะนำมารวมกับปลาเก่า และในกรณีที่ตรวจพบว่าปลาเป็นโรคก็ไม่ควรทำการเคลื่อนย้ายปลาที่เป็นโรคไปยังที่อื่น รวมทั้งควรทำการแยกอุปกรณ์การเลี้ยงไม่ให้ปะปนกัน และทำการฆ่าเชื้อหลังการใช้งานทุกครั้ง ทั้งนี้ในกรณีที่ต้องการควบคุมโรค เพื่อยับยั้งการแพร่ระบาดโดยเฉพาะในฟาร์มที่มีปลาจำนวนมาก อาจจำเป็นที่จะต้องพิจารณาทำลายปลาทั้งบ่อเพื่อที่จะเริ่มทำการเลี้ยงใหม่ 


An Official ZWVST Blog Discussion Topic

Read more!

Wednesday, December 12, 2007

พะยูนใกล้หมดไทย

พะยูนใกล้หมดไทย

 กรมทรัพยากรทางทะเลฯ วอนทุกฝ่ายเร่งแก้ปัญหา

แม้พะยูนจะได้รับการประกาศให้เป็นสัตว์ป่าสงวนของชาติตั้งแต่ปี พ.ศ. 2535 และมีความพยายามจากหลายฝ่ายทั้งภาครัฐ และเอกชนในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากชนิดนี้ แต่สถานภาพการอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทยยังอยู่ในภาวะวิกฤติ โดยปัจจุบันมีประชากรเหลืออยู่น้อยมาก และจากการรวบรวมข้อมูลเป็นเวลากว่าสิบปีของคุณกาญจนา อดุลยานุโกศล หัวหน้ากลุ่มสัตว์ทะเลหายากแห่งสถาบันวิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง จังหวัดภูเก็ต พบว่า พะยูนในประเทศไทยมีอัตราการตายเฉลี่ยต่อปีสูงมาก คาดว่าทุกปีมีพะยูนตายไม่ต่ำกว่า 12 ตัว หรือเฉลี่ยเดือนละหนึ่งตัว ในขณะที่ประชากรในธรรมชาติทั้งประเทศเหลืออยู่ไม่น่าจะเกิน 200 ตัว    ต้องยอมรับว่าแหล่งพะยูนที่ใหญ่ที่สุดอยู่ที่จังหวัดตรัง แต่ขณะเดียวกันข้อเท็จจริงก็คือยังมีพะยูนเหลืออยู่ในอีกหลายพื้นที่ทั้งทางฝั่งอ่าวไทย และทางฝั่งอันดามันตอนบน แต่หากไม่มีการดำเนินการอนุรักษ์อย่างจริงจังโดยเร็ว กลุ่มประชากรที่เหลืออยู่อย่างกระจัดกระจายคงจะหมดสิ้นไปในเร็วๆ นี้


  คุณกาญจนาเปิดเผยต่อว่า จากการศึกษาทางด้านชีววิทยาของพะยูน เราพบว่าอัตราการเพิ่มจำนวนพะยูนในธรรมชาติไม่เกินร้อยละห้าต่อปีเท่านั้น ในขณะที่อัตราการตายในปัจจุบันสูงถึงร้อยละ 10 ในบางปี จึงน่าเป็นห่วงว่าไม่เกิน 15-20 ปีข้างหน้า พะยูนอาจจะสูญพันธุ์ไปหมดจากทะเลไทย แม้แต่พะยูนในเขตทะเลจังหวัดตรังเองก็จัดว่าน่าเป็นห่วง

 

 

ดร.ไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กล่าวในเรื่องนี้ว่า กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง มีนโยบายชัดเจนในการอนุรักษ์สัตว์ทะเลหายากทุกชนิด ซึ่งพะยูนถือเป็นสัตว์ที่มีความจำเป็นเร่งด่วนในการอนุรักษ์ลำดับต้นๆ ตามแนวทางของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

แม้ปัญหาการอนุรักษ์ทรัพยากรตามแนวชายฝั่งของบ้านเราจะค่อนข้างรุนแรง แต่ถ้าเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคแถบนี้ สถานภาพของพะยูนในประเทศไทยนับว่าดีกว่าประเทศอื่นๆ ถ้าจะกล่าวในระดับนานาชาติเราจึงมีความรับผิดชอบเป็นพิเศษต่อการปกป้องคุ้มครองพะยูนในทะเลไทย และเป็นโอกาสดีที่เราจะได้วางแผนการอนุรักษ์พะยูนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นต้นแบบในการอนุรักษ์สัตว์ชนิดนี้ในประเทศเพื่อนบ้านต่อไปด้วย

อธิบดีกรมทรัพยากรชายฝั่งฯ กล่าว เราต้องทำทุกวิถีทางเพื่อให้พะยูนพ้นจากภัยคุกคามต่างๆ ที่มีอยู่ในปัจจุบัน กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งพร้อมที่จะเป็นตัวหลักในการดำเนินงานในด้านนี้ และเราต้องการความร่วมมือจากทุกฝ่าย เพื่อช่วยกันลงมือแก้ปัญหาต่างๆ โดยเร็วที่สุด  ดร.ไมตรี ดวงสวัสดิ์ อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลฯ กล่าวทิ้งท้าย


กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง ร่วมกับสมาคมอนุรักษ์สัตว์ป่า (WCS) และองค์กรอนุรักษ์ที่เกี่ยวข้อง ได้เชิญสื่อมวลชนและผู้สนใจทุกท่าน เข้าร่วมประชุมเชิงปฏิบัติการเพื่อจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย ระหว่างวันที่ 27-29 มิถุนายนนี้ ที่โรงแรมธรรมรินทร์ธนา จังหวัดตรัง การประชุมดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายได้ร่วมระดมความคิดเห็นเพื่อจัดทำแผนอนุรักษ์พะยูนในประเทศไทย ให้สอดคล้องกับสถานภาพ และภัยคุกคามในปัจจุบันของพะยูน โดยเป้าหมายหลักสำคัญคือการผลักดันให้

หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน ได้นำแนวทางการอนุรักษ์พะยูนไปปฏิบัติใช้อย่างสอดคล้องและเหมาะสม โดยเร็วที่สุด

Read more!

การวินิจฉัยโรคไมโคแบคเทอริโอซิสในปลา

การวินิจฉัยโรคไมโคแบคเทอริโอซิสในปลา

Mycobacteriosis เป็นโรคที่เกิดอย่างเรื้อรังมีสาเหตุจากแบคทีเรียมใน Genus Mycobacteriumเชื้อที่พบว่าก่อโรคในปลาได้แก่ M. marinumM. fortuitum และ M. chelonae ซึ่งสามารถแบ่งย่อยลงไปได้อีก นอกจากนี้ยังมีรายงานการก่อโรคจากเชื้อตัวอื่นๆ รวมทั้งชนิดใหม่ เช่น M. Chesapeake และ M. shottii เกิดโรคได้ทั้งในปลาน้ำจืด และน้ำเค็ม อาการที่พบ ได้แก่ ตาโปน เกิดแผลหลุด และถูกทำลาย ผอมหรือน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์ เบื่ออาหาร มีแผลตามตัวจนกระทั่งเห็นเป็นแผลหลุม หลายตัวอย่างก็จะพบอาการท้องมาน พบตุ่มนูนบนผิวหนัง เมื่อผ่าซากอาจจะพบหรือไม่พบตุ่มสีขาวจนถึงเหลืองกระจายทั่วไปในช่องท้อง อวัยวะภายใน ทั้ง ตับ ไตและม้าม พบได้บ่อย ตับ ม้าม และไตมักจะโต เปลี่ยนสี อาจซีดหรือแดงคล้ำ อาจพบการคั่งเลือดและการอักเสบที่รุนแรงในช่องท้อง จนอวัยวะติดกัน เมื่อศึกษาทางพยาธิจะพบแกรนูโลม่าขนาดต่างๆที่อวัยวะทั่วไป และขบวนการอักเสบ ไม่ขอกล่าวในรายละเอียด การติดต่อโดยการกิน ทางการสัมผัสบาดแผล เป็นสำคัญ และยังติดไปยังไข่และอสุจิได้ด้วย

 

การวินิจฉัย เราอาจจะสับสนกับโรคอื่นๆ ที่มีอาการใกล้เคียงกัน เช่น โรค Bacterial kidney disease จากเชื้อ Renibacterium salmoninarum และโรค Nocardiosis และโรคที่ทำให้เกิดแบบเรื้อรังอื่นๆ ที่มีผลให้ร่างกายตอบสนองแบบสร้างแกรนูโลม่า  


การเก็บตัวอย่างและขั้นตอนการวินิจฉัย

 การเก็บตัวอย่างถือว่ามีความสำคัญมาก เพราะปลาบางตัวไม่แสดงอาการให้เห็นเลย ปริมาณเชื้อก็มีเพียงน้อยนิดในร่างกาย เพราะเชื้อเป็นพวกเจริญเติบโตช้าและก่อโรคอย่างช้าๆนั่นเอง หากเราสามารถเก็บด้วยวิธี aseptic ก็จะเป็นประโยชน์มากเลย แต่โอกาสปนเปื้อนสูงมาก และแบคทีเรียที่ปนเปื้อนมักจะเจริญเติบโตในอาหารเลี้ยงเชื้อได้ดีกว่าเชื้อที่เราหา ผลที่ได้ก็คือเราไม่พบทั้งที่อาจจะเป็นตัวก่อโรค อวัยวะที่มักจะเก็บก็คือไต แต่ผมเก็บเกือบทุกอวัยวะ ยิ่งหากพบว่ามีตุ่มรอยโรคอยู่ก็เก็บตรงนั้น รวมทั้งรอยโรคที่ผิวหนัง และน้ำในลูกนัยน์ตา

 

Identification of Mycobacterium.

1. Isolation procedures.

            เมื่อได้เนื้อเยื่อมาแล้วก็นำมา Homogenization ก่อน  เพื่อให้เนื้อเยื่อย่อย และปลดปล่อยเชื้อออกมาจากเนื้อเยื่อแกรนูโลม่า หากจะนำไปศึกษา PCR ก็ต้องใช้ butterfield buffer หากไม่ทำ ก็สามารถบดด้วยสารเคมีที่จะทำ decontamination เลยก็ได้     คือทำไปพร้อมกันในขบวนการเดียวกัน (ผมทำบ่อย) คือบดเนื้อเยื่อลงใน 4%NaOH เป็นเวลา 10 นาที หรือจะเลือกที่ความเข้มข้นต่ำกว่านี้คือ 2%NaOH นานเป็น 12 นาที ก็ได้ ผมมักจะใช้ความเข้มข้นสูงในกรณีที่มีโอกาสปนเปื้อนสูง แต่อาจทำให้เชื้อแบคทีเรียบางตัวตาย หรือเจริญเติบโตได้ช้ามาก (แต่เชื้อจะค่อนข้างทน ประมาณ60 นาทีในบางรายงาน) และยังมีอีกหลายตัวที่ใช้กันได้

 

            หลังจากนั้นก็เขี่ยเชื้อลงในอาหารเลี้ยงเชื้อเฉพาะสำหรับเชื้อไมโคแบคทีเรีย เช่น  1%Ogawa media, Middlebrook 7H10 with OADC และ Lowenstein-Jensen medium อาหารพวกนี้จะมีมาลาไคท์กรีนหรือ tween อยู่เป็นตัวกำจัดเชื้อปนเปื้อน แต่โดยประสบการณ์ของผมที่ใช้อาหารเหล่านี้อยู่ พบว่าเชื้อแบคทีเรียบางชนิดสามารถเจริญได้ดีในอาหารเหล่านี้ ขั้นตอนการdecontamination จึงยังมีความสำคัญ และหากอยู่ในภาคสนาม ขั้นตอนยุ่งยาก หรือเก็บแบบ aseptic แล้วก็สามารถใช้อาหารเลี้ยงเชื้อจำเพาะเหล่านี้ได้โดยตรง และที่สำคัญควรใช้ BHI ร่วมด้วย เพื่อ monitor ว่ามีการปนเปื้อนเชื้อชนิดอื่นอยู่หรือไม่ ถ้าจะให้เยี่ยมไปเลย   BHI ควรเพิ่มกลีเซอรอลไปด้วย 0.5% บางรายงานใส่เยอะมาก 5% ก็ไม่เป็นไร แต่เปลือง (..ฮา..ฮา) เพื่อเป็นแหล่งคาร์บอน หลังจากนั้นก็นำไป incubate ที่ 30 หรือ 32 องศาเซลเซียส บ้านเราหายาก ก็สามารถใช้อุณหภูมิห้องได้ (หยวนๆ แต่อย่าสูงมากเชื้อบางชนิดตายหรือไม่เจริญ แต่เชื้อที่พบในสัตว์ปีกหรือสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม ชอบอุณหภูมิสูง) หลังจากนั้นก็รอนาน หากเป็นพวกเจริญเร็ว อย่างเช่น M. fortuitum หรือ M. chelonae ก็รอไม่เกินสัปดาห์ ก็จะเห็นโคโลนีได้ หากเป็นพวกเจริญช้าอย่างเช่น M. marinum หรือM. tuberculosis ก็อาจจะถึงเดือนหรือสองเดือน

 

เนื่องจากต้องรอนานแบบนี้ หลายคนจึงนิยมเลือกวิธีที่รวดเร็วกว่านี้ เช่น ทำ PCR sequence, thin layer chromatography หรืออื่นๆ ไม่กี่วันก็ทราบผลแต่บ้านเราก็ลำบากหน่อย วิธีที่ภาคสนามสามารถทำได้รวดเร็วก็คือการทำ wet smear จากไต ม้ามหรือตับโดยตรง หรือทำ biopsy แล้วนำไปย้อมสี acid-fast staining หรือ Ziehl-neelsen stain ก็จะสามารถเห็นเชื้อย้อมติดสี carbon fuchin ได้ ซึ่งเป็นคุณสมบัติของเชื้อไมโคแบคทีเรีย เพราะผนังเซลล์ และเซลล์มีไลปิดอยู่สูงและทนต่อการ decolorize จากกรดหรือเบสสูง ซึ่งคุณสมบัตินี้ไม่มีในเชื้อกลุ่มอื่น แม้กระทั่ง Nocardia spp.

 

            หากย้อมติดสีแดง   ก็หมายถึงให้ผลบวกต่อ acid-fast   ในกรณีที่ต้องศึกษาในโคโลนี หลังจากที่เลี้ยงเชื้อจนเจริญดีแล้ว ก็ต้องทำการ purification เสียก่อน หลังจากนั้นก็ทำการย้อมแกรม ศึกษาการเคลื่อนที่ (motility test) และ acid-fast หากพบว่าเป็นแกรมบวก ไม่เคลื่อนที่ และ acid-fast เป็นบวก ก็คือกลุ่มใน Genus Mycobacterium


หลังจากนั้นหากจะศึกษาถึงระดับชนิดโดยวิธีทาง biochemical และ biophysiological characteristics ของเชื้อก็สามารถทำได้ (ยังไม่ขอกล่าววิธีอื่นในที่นี้) โดยแรกสุดทำการศึกษาอัตราการเจริญของเชื้อ และการสร้างเม็ดสีของเชื้อในอาหารเลี้ยงเชื้อ ตามไดอะแกรม หากเป็นพวกเจริญช้าและ photochromogenic คืออยู่ที่มืดไม่มีแสงจะให้โคโลนีสีขาว แต่เมื่อถูกแสงกระตุ้นก็จะเปลี่ยนเป็นโคโลนีสีเหลือง เช่น M. marinum หรือ M. simiae ที่เจอในลิงและคน หากให้โคโลนีขาวทั้งที่ถูกแสงกระตุ้นและในที่มืด ก็จะเป็นพวก nonphotochromogenic เช่น M. tuberculosis,  M. bovis เป็นต้น และหากให้โคโลนีสีเหลืองทั้งในที่มืดและสว่างก็จะเป็นพวก scotochromogenic เช่น M. scrofulaceum หากเป็นพวกเจริญเร็ว ซึ่งมักจะเป็นพวก nonphotochromogenic เช่น M. fortuitum, M. chelonae เป็นต้น ซึ่งเป็นการแบ่งกลุ่มแบบ Runyon group ซึ่งไม่นิยมใช้ในปัจจุบัน อย่างไรก็ตามสามารถนำมาใช้เพื่อประกอบความเข้าใจอย่างง่ายในการปฏิบัติ หลังจากนั้นก็เลือกการทดสอบ (หรือทำไปพร้อมกันตั้งแต่แรก) ทางbiochemical test เช่น Niacin accumulation, Nitrate reduction, 68C Catalase, Tween hydrolysis, Tellurite reduction, Tolerance to 5%NaCl, Arylsulfatase reduction, Urease utilization, PAS และ resists inhibition by Picric acid เป็นต้น และยังมีให้เลือกมากมายเพื่อลงไปชนิดย่อย ซึ่งบางการทดสอบก็มีชุด kits ให้ใช้อย่างง่าย

 

จบแล้วครับ หวังว่าเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อย ลองเอาไปปฏิบัติดู แล้วมาเล่าสู่กันฟังบ้าง นะครับ

 

By: หมอแก้ว

Read more!

การใช้ยา และสารเคมีในปลาสวยงาม

การใช้ยา และสารเคมีในปลาสวยงาม


เนื่องจากปัจจุบัน ความนิยมในการเลี้ยงปลาสวยงามมีมากขึ้น ผลิตภัณฑ์ต่างๆที่เกี่ยวข้องกับการเลี้ยงปลาสวยงามมีมากขึ้น หาง่าย และมีการพัฒนาไปมาก โดยเฉพาะยาและสารเคมีที่ใช้ในการดูแลสุขภาพ ที่มีจำหน่ายอยู่มากมายตามท้องตลาด การใช้ยาและสารเคมีนั้นมีทั้งประโยชน์และโทษ หากเราเลือกใช้ถูกต้องก็จะเป็นประโยชน์ แต่ถ้าเลือกใช้ไม่ถูกต้อง หรือใช้ผิดวัตถุประสงค์ก็จะเกิดผลเสียกับตัวปลาได้ ดังนั้นเราจึงควรรู้จักกลุ่มยาที่มีการใช้กันในปลาสวยงาม วิธีเลือกใช้ และวิธีการให้ยา รวมไปถึงอาการแพ้ยาในปลา เพื่อเป็นประโยชน์ในการตัดสินใจเลือกใช้ยา และสารเคมีกับปลาสวยงาม

ยาและสารเคมีที่นิยมใช้ในปลาสวยงามแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่  ได้แก่   

                                                                           

1.       ยาปฏิชีวนะ

2.       ยาฆ่าพยาธิภายนอก เช่นฟอร์มาลิน มาลาไคร์กรีน และเกลือ

3.       ยาฆ่าเชื่อ เช่น ด่างทับทิม

4.       วิตามิน และ แร่ธาตุ

5.       อื่นๆ เช่น ยากำจัดคลอรีน

 

ยาปฏิชีวนะ  

 

โดยทั่วไป การใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อรักษาโรคติดเชื้อแบคทีเรีย หรือจากสาเหตุอื่นๆ แล้วมีการติดเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อน ซึ่งการใช้ยาปฏิชีวนะต้องมีการเลือกตัวยาให้เหมาะสมกับเชื้อแบคทีเรียที่ก่อโรค ใช้ให้ถูกขนาด ระยะเวลา จึงสามารถรักษาโรคได้ดีที่สุด

สาเหตุที่ใช้ยาปฏิชีวนะไม่ได้ผล

·     การดื้อยา มักเกิดในกรณีใช้ยาไม่เหมาะกับเชื้อ ใช้ไม่ถูกขนาด หรือระยะเวลาไม่เหมาะสม เช่นสั้นเกินไป หรือบ่อยเกินไป ทำให้เชื้อในร่างกายทนต่อเมื่อเกิดโรคจากเชื้อเดิมการใช้ยาตัวเดิมจึงไม่ได้ผล

·     บางครั้งปลาที่แสดงอาการไม่สบายอาจไม่ได้เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย แต่มีสาเหตุอื่นๆ เช่น การจัดการ คุณภาพน้ำ พยาธิภายนอก การใช้ย่าปฏิชีวนะในการรักษาจึงไม่เห็นผลที่น่าพึงพอใจ

ข้อแนะนำในการเลือกใช้ยาปฏิชีวนะ

·       ใช้ยาในขนาด และระยะเวลาที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการดื้อยา

·       ปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ เพื่อหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา

ตัวอย่างยาปฏิชีวนะที่ใช้บ่อยในการเลี้ยงปลาสวยงาม ได้แก่ oxytetracyclin, enrofloxacin, และ sulphatrimetroprime

 

 ยาฆ่าพยาธิภายนอก

1.  ฟอร์มาลิน formaldehyde 37%

ข้อบ่งใช้

มีฤทธิ์ในการกำจัดพยาธิภายนอก เช่น โปรโตซัว แบคทีเรีย เชื้อรา และนิยมใช้ในการฆ่าเชื้ออุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงปลาสวยงาม

ลักษณะ

เป็นของเหลวใส ไม่มีสี กลิ่นค่อนข้างรุนแรง

 

ข้อควรระวังในการใช้

·       หากใช้ในขนาดที่สูงเกินไป อาจก่ออันตรายให้กับตัวปลาได้ โดยเฉพาะที่เหงือก

·       มีผลทำให้ออกซิเจนในน้ำลดลง จึงควรเตรียมออกซิเจนให้เพียงพอ

·       เป็นสารก่อความระคายเคือง ผู้ใช้ควรระวัง หลีกเลี่ยงการสูดดม และสัมผัสถูกผิวหนังโดยตรง

วิธีใช้      ใช้กำจัดพยาธิภายนอกในตัวปลา (ควรเปลี่ยนน้ำออกอย่างน้อย 50% ก่อนใส่ยาครั้งต่อไป)

    

 

จาก Exotic animal formulary

0.125-0.25 ml/L                                           60 นาที          Bath  ทุก 24 ชั่วโมง               2-3 วัน

0.015-0.025 ml/L                                        tank water    ทุก 48 ชั่วโมง                          ครั้ง

0.4 ml/L          ชั่วโมง                                 Bath                                       ทุก วัน         ครั้ง              น้ำอ่อน

                        0.5 ml/L          ชั่วโมง                                 Bath                                       ทุก วัน         ครั้ง              น้ำกระด้าง

                        2 ml/L                                                             ชั่วโมง                                 Bath               ทุก วัน         ครั้ง              น้ำทะเล

 

2. มาลาไคท์กรีน

ข้อบ่งใช้

มีฤทธิ์เด่นในการกำจัดเชื้อราทั้งตัวปลาสวยงาม และไข่ปลา นอกจากนี้ยังใช้ในการกำจัดพยาธิภายนอก และเชื้อแบคทีเรียบางชนิด

ลักษณะ

เป็นผงสีเขียว ก่อนใช้ให้นำมาละลายน้ำ

ข้อควรระวัง

·       เป็นสารก่อมะเร็งในคน ห้ามใช้ในปลาบริโภค

·       อาจก่อพิษอย่ารุนแรงในปลาบางชนิดเช่น อะโรวานา เสือตอ

วิธีใช้     ใช้กำจัดเชื้อรา (ควรเปลี่ยนน้ำออกอย่างน้อย 50% ก่อนใส่ยาครั้งต่อไป)

     จาก The exotic animal drug compendium

                ปลาสวยงาม                              2 mg/L     Dip           30 นาที

                ปลาสวยงาม                              0.1 mg/L  Bath         วันละครั้ง

                ปลาสวยงาม                              0.05 mg/L                Dip           ชั่วโมง

                ปลาสวยงาม                              0.05 mg/L                Bath         ทุกวัน

                ปลาในบ่อ                                  0.1-0.4 g/m3             Bath

     จาก Exotic animal formulary

                100 mg/L                 ทาบริเวณรอยโรคที่ผิวหนัง

                0.1 mg/L                  tank water               ทุก วัน   ครั้ง

                50-60 mg/L              Bath         10-30 วินาที

                1 mg/L                     Bath         30-60 นาที

3. เกลือ

ข้อบ่งใช้

ใช้ในการป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรีย เชื้อรา และพยาธิภายนอกบางชนิด ช่วยลดความเครียด เช่นการเปลี่ยนแปลงอุณหภูมิ การขนส่ง และใช้ในการรักษาสมดุลของร่างกาย

ลักษณะ

ผลึกสีขาว

วิธีใช้      ละลายน้ำ

   จาก The exotic animal drug compendium

                ปลาน้ำจืด                                  30-35 g/L Dip           4-5 นาที

                ปลาสวยงาม                              20-30 g/L Dip           30 นาที

                ปลาขนาดเล็ก                             5 g/L                        Dip           30 นาที

                ปลาขนาดเล็ก                             10 g/L      Dip           น้อยกว่า 10 นาที

                ปลาน้ำจืดเขตร้อน                       25 g/L      Dip           น้อยกว่า นาที          วันเว้นวัน

                ปลาทอง                                    20-50 g/L Dip           น้อยกว่า 15 นาที

                ปลาคาร์พ                                  20-50 g/L Dip           น้อยกว่า 15 นาที

   จาก Exotic animal formulary

                1-5 g/L                                     tank water               ไม่มีกำหนด ป้องกันหรือรักษาพยาธิภายนอก

                10-30 g/L                                 Bath                         30 นาที

                30-35 g/L                                 Dip                           4-5 นาที

 

ข้อแนะนำ

ควรใช้เกลือที่ไม่มีไอโอดีน หรือการเติมแร่ธาตุอื่นๆ ควรถ่ายน้ำออกครึ่งนึงก่อนใส่เกลือครั้งต่อไป ควรสังเกตระดับน้ำที่ลดลงและเติมน้ำใหม่ให้เท่าระดับเดิม เพื่อป้องกันไม่ใช้เกลือเข้มข้นมากเกินไป ไม่ควรใส่เกลือบ่อยเพราะความเค็มของน้ำจะส่งผลให้เมือกที่ตัวปลาลดลง

ยาฆ่าเชื้อ

1.ด่างทับทิม

ข้อบ่งใช้

มีฤทธิ์ในการกำจัดแบคทีเรีย และพยาธิภายนอกบางชนิด นอกจากนี้ยังใช้ในการฆ่าเชื้ออาหารสด พืชน้ำ และอุปกรณ์ต่างๆ

ลักษณะ

ผลึกสีม่วง ก่อนใช้ควรละลายน้ำ

ข้อควรระวัง

·     ควรล้างอุปกรณ์ที่ได้รับการฆ่าเชื้อด้วยด่างทับทิมให้สะอาด เพราะด่างทับทิมที่ตกค้างอาจก่อความระคายเคืองกับผิวหนัง และเหงือก

·       ควรใช้อย่างระวัดระวังในปลาไม่มีเกล็ด เพราะอาจก่อความระคายเคืองกับผิวหนัง และเหงือก

·       หากใช้เกินขนาดจะทำให้ผิวหนัง และเหงือกไหม้ อาจถึงตายได้

วิธีใช้    ละลายน้ำ

 

 จาก Fish disease diagnosis and treatment

                1000 mg/L               10-40 วินาที

                100 mg/L                 5-10 นาที

                20 mg/L                  1 ชั่วโมง

                2-5 mg/L                  Bath

จาก Exotic animal formulary

                100 mg/L                 Dip                           1-5 นาที

                0.25-1.0 mg/L          Bath                         24-48 ชั่วโมง

                0.15-0.2 mg/L          tank water

                0.2 mg/L                  tank water               14-21 วัน

 

2. คลอรีน

ข้อบ่งใช้

สำหรับฆ่าเชื้อในน้ำ และอุปกรณ์เท่านั้น ห้ามใช้กับปลาโดยเด็ดขาด

ลักษณะ

ผงสีขาวเมื่อละลายน้ำจะมีลักษณะใส ไม่มีสี

ข้อควรระวัง

มีความเป็นพิษกับปลาอย่างมาก อาจทำให้ปลาถึงตายได้ ดังนั้นอุปกรณ์ที่ฆ่าเชื้อด้วยคลอรีนแล้วควรล้างด้วยน้ำสะอาดอีกครั้ง

 


วิตามิน และแร่ธาตุ

ปกติหากให้อาหารปลาด้วยอาหารสำเร็จรูปที่มีคุณภาพ และปลามีสุขภาพแข็งแรงดี การให้สารเสริมพวกวิตามิน และแร่ธาตุจึงไม่มีความจำเป็นมากนัก แต่มักจะใช้ในกรณีที่ปลาป่วย หรือภาวะอื่นๆที่ทำให้ปลาเกิดความเครียด เช่นการขนย้ายปลา อากาศเปลี่ยนแปลง อุณหภูมิน้ำเย็นลง ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลให้ปลากินอาหารน้อยลง และยังมีผลต่อระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอีกด้วย

การให้พวกวิตามินรวม จะสามารถช่วยกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้มกันโรคได้ และเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ปลาหายจากอาการเจ็บป่วยได้เร็วขึ้น

 

 

 

 

 

อื่นๆ

1.  ยากำจัดคลอรีน (โซเดียม ไธโอซัลเฟต)

ข้อแนะนำ

ใช้เพื่อกำจัดคลอรีนออกจากน้ำที่ใช้เลี้ยงปลา เช่น น้ำประปา และใช้ลดความเป็นพิษของคลอรีน

ลักษณะ

เป็นผลึกขาวใส ก่อนใช้ควรละลายน้ำ

ข้อควรระวัง

·       หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะมีผลทำลายตับ และไต จึงแนะนำให้ใช้ในกรณีฉุกเฉินเท่านั้น

·     วิธีที่ดีที่สุดในการกำจัดคลอรีนคือการพักน้ำอย่างน้อย วันก่อนนำมาใช้ คลอรีนจะระเหยไปเองหากต้องการเร่งให้ระเหยเร็วขึ้นอาจใส่หัวทรายลงไป

·       100 mg/L แช่ครั้งเดียว แก้พิษคลอรีน

 

วิธีการเลือกใช้ยา และข้อพิจารณาเกี่ยวกับการใช้ยา    

 

1.       เลือกยาที่มีคุณภาพ และดูวันหมดอายุที่ฉลากยาทุกครั้ง

2.       การให้ยาควรคำนึงถึงสาเหตุที่แท้จริงของโรคเป็นหลัก หากไม่แน่ใจควรปรึกษาผู้เชี่ยวชาญ

3.       คุณภาพน้ำเป็นสิ่งสำคัญ หากคุณภาพน้ำไม่ดี สกปรก จะทำให้ประสิทธิภาพของยาลดลง

4.     ระหว่างการให้ยาหรือสารเคมี ควรมีการให้ออกซิเจนอย่างเพียงพอ มีการระบายน้ำเข้า – ออก  เพื่อถ่ายของเสีย หรือยา และสารเคมีที่เสื่อมประสิทธิภาพออกจากตู้

5.     ก่อนใส่ยา หรือสารเคมีทุกครั้ง ต้องมีการคำนวณปริมาณยาที่ให้ตามปริมาตรของน้ำ (ยาละลายน้ำหรือตามน้ำหนักตัวสัตว์ (ยาฉีดแล้วแต่กรณี เพื่อป้องกันพิษของยา

6.       หลังจากการใส่ยา หรือสารเคมีในตู้ปลา ควรสังเกตการณ์เปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของปลา

7.       ก่อนใส่ยา และสารเคมีใหม่ทุกครั้งควรทำการถ่ายน้ำเก่าออก ประมาณครึ่งนึงของตู้

 

 

วิธีการให้ยา

1.       การให้ยาภายนอก

เป็นวิธีที่นิยมเนื่องจากสะดวก และปลาไม่บอบช้ำจากการจับต้อง โดยเฉพาะปลาที่มีขนาดเล็ก หรือมีปริมาณมากจนไม่สามารถจับฉีดเป็นรายตัว ยาที่ใช้ควรเป็นยาที่สามารถละลายน้ำได้ดี มีการกระจายตัวสูง และสามารถออกฤทธิ์ต่อภายนอกได้ เช่น ยาฆ่าพยาธิภายนอก ยาปฏิชีวนะบางชนิด

a.        การจุ่ม

เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาที่มีประมาณน้อย สะดวกที่จะนำขึ้นมาจุ่ม จะใช้ปริมาณยาในความเข้มข้นสูง ระยะเวลาสั้น วิธีนี้จะทำให้ปลาเครียด และเกิดความเป็นพิษได้ง่าย

b.       การแช่ระยะยาว

เหมาะสำหรับการเลี้ยงปลาในบ่อขนาดใหญ่ หรือมีปริมาณปลาค่อนข้างมาก จะใช้ในความเข้มข้นค่อนข้างต่ำ ระยะเวลานาน โดยละลายยา หรือสารเคมีลงในน้ำ และระหว่างให้ยาจะไม่มีการเปลี่ยนน้ำ แต่ถ้าจะให้ยาครั้งใหม่ต้องมีการถ่ายน้ำเก่าออกอย่างน้อยครึ่งนึง

c.        การให้ยาเฉพาะที่

ใช้ในกรณีที่ปลามีบาดแผลที่ผิวหนัง ตามลำตัว โดยทายาหรือสารเคมีบริเวณแผลโดยตรง

 

2.       การให้ยาภายใน

a.        การให้ยาผสมอาหาร

โดยผสมยาลงในอาหาร แล้วนำไปให้ปลากิน มีข้อจำกัดคือ ยาอาจทำให้รสชาติของอาหารเปลี่ยนไปจนปลากินอาหารลดลงหรือไม่กินเลย ซึ่งปกติปลาป่วยจะกินอาหารน้อยอยู่แล้ว จึงอาจทำให้ปลาไม่ได้รับยาในปริมาณที่เหมาะสม

b.       การฉีดยา

เป็นวิธีที่ยาออกฤทธิ์ได้ดีที่สุด และปลาได้รับปริมาณยาครบถ้วน เหมาะสำหรับปลาขนาดใหญ่ มีจำนวนไม่มาก หรือในกรณีฉุกเฉิน การฉีดยาจะทำให้ปลาเกิดความเครียดดังนั้นต้องมีวิธีจับบังคับอย่างเหมาะสม ผู้ฉีดควรเป็นสัตวแพทย์ หรือผู้เชี่ยวชาญที่มีความชำนาญ เนื่องจากการฉีดที่ไม่ถูกวิธีจะก่อให้เกิดอันตรายถึงตายได้

วิธีการฉีดได้แก่ การฉีดเข้ากล้ามเนื้อ การฉีดเข้าหลอดเลือด การฉีดเข้าช่องท้อง และการฉีดเข้าใต้ผิวหนัง การเลือกใช้ก็ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการรักษา ชนิดของยา และความจำเป็น

 

 

 

การแพ้ยา และสารเคมีในปลาสวยงาม

                ปลาอาจแสดงอาการแพ้ยา หรือสารเคมีที่ให้ ดังนั้นหลังจากให้ยาควรสังเกตอาการที่เกิดขึ้นกับปลาได้โดย

·     ปลาแสดงอาการผิดปกติ หลังจากให้ยา หรือสารเคมีประมาณ 10 นาที แต่อาการแพ้จะเกิดช้าหรือเร็วขึ้นอยู่กับฤทธิ์ และปริมาณความเป็นพิษของยา และสารเคมีเหล่านั้น

·       ปลาที่มีอาการแพ้ไม่มาก จะลอยตัวขึ้นเหนือน้ำ หายใจหอบถี่ การเคลื่อนไหวจะช้าผิดปกติ

·       ปลาที่มีอาการแพ้มาก จะแสดงอาการทางประสาท เช่น ตื่นตกใจ หรือว่ายวนไปมาไร้ทิศทาง

·     ปลาที่ตายจากการแพ้ยา จะมีอาการผิดปกติ เช่น พบจุดเลือดออกใต้เกล็ด ทวารหนัก หรือในลูกตา นอกจากนี้ยังพบว่ารูทวารหนักเปิดกว้างกว่าปกติ ตาโต

เมื่อปลาแสดงอาการแพ้ยา หรือสารเคมี ควรทำการเติมน้ำสะอาดลงในตู้ปลาเพื่อเจือจาง และสารเคมีดังกล่าวทันที และเพิ่มปริมาณออกซิเจนให้เพียงพอ บางครั้งอาจต้องใช้สารเคมีบางอย่างพื่อลดความเป็นพิษ เมื่อปลาแสดงอาการดีขึ้นให้เปลี่ยนน้ำในตู้ด้วยน้ำสะอาด

 

 

เอกสารอ้างอิง

Treves-Brown KM. Applied fish pharmacology. 1 st ed. Netherland:Kluwer

academic publishers,2000.

Noga EJ. Fish disease:diagnosis and treatment. 1 st ed. St.louise:Mosby,1997.

Wildgoose WH. BSAVA manual of ornamental fish. 2nd ed. Gloucester:British Small Animal Veterinary Association, 2001.

Stoskopf MK. Fish Medicine. 1 st ed. Mexico:W.B. Saunders company,1993.

Marx  KL, Roston MA. The exotic animal drug compendium an international formulary. New Jersy: Veterinary learning system, 1986.

Carpenter JW, Mashima TY, Rupiper DJ. Exotic animal formulary. 2nd  ed. Philadelphia: W.B. Saunders, 2001.

By: สพ.ญ.กฤดา ชูเกียรติศิริ

Read more!